วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Review : Girls Don't Cry (หนัง BNK48)


GIRLS DON'T CRY
"อะไรคือ ยังพยายามไม่พอ"
จิ๊บ BNK48



** คำเตือน บทความนี้จะสปลอยหนังทั้งเรื่อง **

เพิ่งได้มีโอกาสไปดูหนังเรื่องล่าสุดของ เต๋อ นวพล ที่ถูกเลือกให้มากำกับ ภาพยนตร์ของBNK48 โดยในภาพแรกก่อนที่จะได้รับสปลอยจากเพื่อนๆ ผมก็คิดว่ามันน่าจะเป็น "สารคดี" แบบที่คุ้นเคยจาก ภ. ของวงพี่ที่ผ่านมา (Documentary of AKB48) แต่หลายคนก็สปลอยว่า "มันอาจจะไม่ใช่สารคดีที่ทุกคนคาดหวังเท่าไหร่หรอก"

ซึ่งมันก็ใช่..

เพราะเท่าที่เพิ่งดูจบไป มันเป็นเรื่องในห้วงความทรงจำของเมมเบอร์ของวงนี้เสียมากกว่า

STORY

โดยหลักๆ หนังจะถูกเล่าผ่านคำพูดของเมมเบอร์ในช่วงเวลาที่ผู้กำกับตามไปถ่ายทำ นั่นคือ เป็นการเล่าเรื่องในอดีต ไม่ได้เล่าเรื่องที่เป็น "เวลานั้น" ซึ่งแน่นอนเพราะกว่าผู้กำกับเต๋อ นวพล จะเข้ามาทำ เวลามันก็ผ่านมาปีกว่าๆ แล้ว และในยุคแรก บ.BNKเองก็ไม่ค่อยได้เก็บภาพสำรองไว้ ดังนั้น เราจึงจะเห็นการรีไซเคิ่ลคลิปเก่าเกือบทั้งหมด แถมควอลิตี้ก็ย่ำแย่ เพราะบางอันมันเป็นคลิปถ่ายทอดทางอินเตอร์เน็ต แล้วก็มีแค่นั้น ผู้กำกับต้องมาเอามาใช้เท่าที่เขามีซอร์สมาให้ ทำให้ 80% เป็นหน้าน้องๆ นั่งสัมภาษณ์ครับ

โดยหนังเรื่องแบ่งเรื่องราวเป็น ความคิดตั้งแต่ก่อนเข้ามาออดิชั่น วันออดิชั่น วันเริ่มซ้อม และ เริ่มมีการเลือกเซ็มบัตสึ 3 ซิงเกิ้ลแรก AITAKATTA, KOISURU FORTUNE COOKIES, SHONICHI และไม่ได้พูดถึงการมาของ "รุ่น 2"

เมื่อ ภ.เรื่องนี้เป็นมุมมองจากน้องๆ เมมเบอร์ มันก็จะไม่ค่อยมีจุดที่จะอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจว่า "หลังจากถูกเลือกเข้าวงมาแล้ว พวกเธอทำอะไรไปแค่ไหน" หรือ "วงมันอยู่ด้วยโมเดลธุรกิจอะไร"

เอาง่ายๆ มันถูกเล่าแบบหลวมๆ มิได้ให้ "คนนอก" ได้รู้จัก "วง" มากเสียเท่าไหร่ หรือ วงนี้มันแหวกจากวงการเพลงไทยแค่ไหน แต่กลับมุ้งเน้นไปที่ "บุคคล" มากกว่า แถมบุคคลนั้นก็มีแต่ "เมมเบอร์" พูดถึงกันเอง วนเวียนพูดอยู่เรื่องเดียว นั่นคือ พูดถึงสิ่งที่พวกเธอทำเพื่อให้ได้ซึ่ง "ความนิยม" ซึ่งมันจะส่งผลให้ต่อไปพวกเธอจะกลายเป็นเซ็มบัตสึของซิงเกิ้ล เพื่อเป็น 16 คนบนเวทีนั่นแหละ

ในตอนเริ่มวงนั้น วง BNK48 ยังไม่มีช่องทางอะไรเลยที่จะ interact กับแฟนคลับ ช่องทางของโซเชี่ยลมีเดีย แบบ ยอด Like Facebook ยอด follow ของ Insragram เป็นตัวชี้วัด "อนาคต" ของพวกเธอ โดยไม่ได้คำนึงถึง "ความสามารถด้านการร้อง การเต้น แบบที่ เกิร์ลกรุ๊ปพึงมี"

หนังส่วนมากโฟกัสไปที่เมมเบอร์ที่ "ประสบปัญหา" โดยจะโฟกัสไปที่ "ปูเป้" เมมเบอร์ที่มีความ "อะไรของพี่วะ" กับบริษัทตัวเองมากที่สุด , อันดับรองลงมาคือ "จิ๊บ" เมมเบอร์ที่แม้ทุกคนในวงจะยอมรับว่า ร้องเก่งเต้นเก่งกว่าใคร แต่ก็ไม่เคยได้รับสปอตไลท์เสียที และ "เฌอปราง" เมมเบอร์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในวง และที่ลืมไม่ได้คือ เจนที่บ่งบอกอารมณ์บางอย่างได้โดยไม่ต้องพูดมาก

ซึ่งแอร์ไทม์ของ 4 คนนี้ น่าจะถือว่า เป็นคนที่มีความนิยม "กลาง (ปูเป้,เจน)" "ล่างสุด (จิ๊บ)" และ "บนสุด (เฌอปราง)" ในวงBNK48 บวกกับเมมเบอร์ที่ไม่ค่อยได้รับโอกาสเป็นเซ็มบัตสึ ก็จะมีแอร์ไทม์เยอะกว่าพวกบนๆ ของวงครับ ส่วนตัวคิดว่าคงไม่เกี่ยวกับความนิยมอย่างเดียวหรอก เพราะเวลาเอามาเรียงเป็นหนังแล้ว สิ่งที่พวกเธอคนไหนเล่ามันเดินเรื่องได้ราบรื่นหรือมันพีคกว่าเอาของคนอื่นมาแปะก็เป็นได้ เพราะบางจุดเมมเบอร์ก็รู้สึกคนละแบบกัน

แต่สิ่งที่มีร่วมกันในห้วงความคิดของทั้ง 4 คนข้างต้น คือ "ฉันหาคำตอบที่ฉันอยากรู้ไม่เจอเสียที" นั่นคือ "ทำไมฉันถึงได้/ไม่ได้รับเลือก" ซึ่งล้วนเป็นความคลุมเครือของผู้ใหญ่ ผู้บริหารวง และร่วมไปถึงพวกแฟนคลับของวงนี้นั่นแหละ

กล่าวคือ ในเรื่องขับเน้นไปที่ "ความนิยม" และ "หนทางที่ว่าทำยังไงถึงได้มา" แต่กลับไม่มีคำตอบว่า "เพราะอะไรจึงต้องทำขนาดนั้น" ให้ชัดเจนเอาเสียเลย เหมือนกับผู้กำกับของเรายืนอยู่ฟากเดียวกับเหล่าเด็กสาวและเล่าเรื่องราวอัดอั้นตันใจของเหล่าเมมเบอร์ให้เราฟังตลอดหนังทั้งเรื่องเสียมากกว่า

หนัง ไม่ได้จับประเด็น "ความสำเร็จ" ของวงที่เกิดขึ้นมาในซิงเกิ้ล Koisuru Fortune Cookies แต่มีแย้มๆ ว่าจริงๆ แล้วก่อนปล่อย "คุกกี้" ทางวงเองก็กำลังป้อแป้จนไม่น่าเชื่อว่าเพลงคุกกี้จะพลิกกระดานทั้งหมดได้ด้วยซ้ำ ราวกับว่า ถ้าไม่มีคุกกี้วงนี้คงดับสูญไปแล้วก็ไม่ปาน

ดังนั้นแล้ว จะบอกว่า "คำถามที่หลายคนมีในใจ" มันอาจจะไม่ถูกตอบเลยแม้แต่น้อยใน ภ. เรื่องนี้
ผู้กำกับอาจจะจงใจปล่อยให้มันคลุมเครือและให้คนดูไปเติมเอาตามใจชอบแบบเดียวกับที่ ผู้กำกับคนนี้ชอบทำบ่อยๆ ใน ภ. เรื่องก่อนๆ ของเขา

หากใครมองหา สารคดีความสำเร็จของโมเดลธุรกิจที่ซื้อเฟรนไชล์จากวงญี่ปุ่นวงนี้ ภ. คงไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่

คำถามว่า "ทำไมถึงดังจังวะ" มันไม่ได้ถูกเขียนลงมาในหนังแม้แต่บรรทัดเดียว
เขียนแต่ผลลัพธ์ว่า "พอปล่อยเพลงนี้ วงก็ดังพลุแตก"
เรียกว่า "การวิเคราะห์ความสำเร็จของธุรกิจนี้" หรือ "โฆษณาชวนเชื่อ" มันไม่เคยมีอยู่ในการดู ภ. เรื่องนี้

คำถามที่คนนอกหลายคนอาจสงสัย เช่น
  • วงน้องของ AKB48 เหรอ แล้ว AKB48 คือใครวะ?
  • ทำไมต้องมีแค่สิบหกคนที่ได้โอกาศวะ
  • ทำไมเฌอปรางถึงเป็นตัวแทนของความพยายามวะ คนอื่นมันไม่พยายามหรือไง?
  • ทำไมต้องมีกฎนู่นนั่นนี่วะ
  • ทำไมน้องสี่คนนั้นเขาออกจากวงวะ
  • ทำไมวงนี้จึงถูกแฟนเพลงยกย่องซะเป็นของสูงขนาดนั้นได้วะ
  • พวกที่เขาตามมาตั้งแต่ยังไม่มีคุกกี้เขาเห็นอะไรวะ
  • ฯลฯ

ภ. เรื่องนี้มันไม่ได้ตอบคำถามพวกนั้นแม้แต่น้อย

คนดูที่อยากรู้ก็ไปวิเคราะห์เอาเอง หรือ อยากตีแผ่ พี่ก็ไปตีแผ่เอาเองละกัน ผมอยากถ่ายทอดความในใจน้องพวกนี้แค่นี้แหละ ไม่รู้ผู้กำกับอยากบอกแบบนี้หรือเปล่า? ผมอาจจะคิดไปเองก็ได้

แต่ส่วนตัวแล้ว สิ่งที่ผมสงสัยและเกิดเป็นช่องว่าง เป็นหลุมดำใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น ในความคลุมเครือของ ตัว บ. และ ตัวแฟนคลับนั้น ก็เป็นสิ่งที่หากมีใครได้ลองถ่ายทอดออกมาแล้ว น่าจะเกิด "เครื่องหมายคำถาม" มากขึ้นอีก และคนดูคงจะได้ถามกลับไปยังผู้ตามล่าความจริงว่า "คนพวกนี้เขาคิดอะไรอยู่กันแน่วะ" เป็นแน่

ดูเสร็จแล้วได้อะไร?

สำหรับผมแล้ว ก็คงได้เข้าใจที่มาของความแปลกๆ ของพวกเด็กๆ ที่ฝืนธรรมชาติของตัวเองแล้วล่ะมั้ง? กับ คาแร็กเตอร์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาตามแต่ความต้องการของแฟนคลับบางคนได้สร้างภาระกับพวกเมมเบอร์มากแค่ไหนล่ะมั้งครับ?

สรุปอีกที
ภ. เรื่องนี้เล่าเรื่องราวจากกลุ่มเด็กสาวที่เข้ามารวมตัวเป็นวงไอดอล BNK48 รุ่นที่1 ซึ่งดำรงชีวิตอยู่บน "ชะตากรรมที่เลือกมาเป็นเอง" ที่หลายครั้ง "ความอะไรก็ไม่รู้" ของผู้คนรอบตัวนั่นแหละที่บีบคั้นให้เธอดำรงชีวิตแบบนี้

ในแง่ของความเป็นสารคดีวงดนตรี "เกือบไม่เข้าข่าย"
ดูแล้วรู้จักรากเหง้าของคนในวงมั้ย "แทบไม่รู้"
ในแง่ของความเป็นหนังวัยรุ่น "ก็เป็นชีวิตของตัวเอกที่เป็นวัยรุ่น มันก็ต้องเป็นแหละ"
เป็นหนังที่คุณควรเปิดให้คนรอบตัวของคุณดูเพื่อรู้จักวงนี้มั้ย? "ไม่ใช่"
เป็นหนังที่โอตะเท่านั้นจึงจะเข้าใจ "ก็ไม่เชิง"

เพราะที่สุดแล้ว มันเป็นภาพยนตร์ที่ใช้ระบายความอัดอั้นตันใจของเมมเบอร์นั่นแหละ

สิ่งเดียวที่ผุดขึ้นมาคือ "คุณเคยพยายามทำอะไรสักอย่างอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง"


จ่ากบ

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม