วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

[AKB48] การแสดงที่เธียเตอร์ คือ ?


entry นี้ ผมเขียนตามความเข้าใจของผมนะครับ อาจจะมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่ตรงตามที่แฟนตัวจริงเข้าใจไปบ้างก็ขออภัยไว้ล่วงหน้าเลย ยังไงก็ช่วยคอมเมนต์ให้ความรู้ผมด้วยนะครับ


การแสดงที่เธียเตอร์ (公演) คือ?

สำหรับคนที่ไม่เคยไปดูการแสดงสดๆของ AKB48 อย่างผมแล้ว การดูพวกเธอแสดงผ่านรายการทีวี คงเป็นอะไรที่ผมคุ้นเคยมากกว่า แต่สำหรับเหล่าโอตะแล้ว การแสดงที่เธียเตอร์ หรือ 公演 (โคเอ็น* ต่อจากนี้ผมจะเขียนแค่โคเอ็นนะครับ) นั้น ถือเป็นสิ่งที่พวกเขาทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แบบที่ว่า คนละระดับกับที่คนปกติเขาดูกัน
 
ว่ากันว่า ในช่วงปัจจุบันนี้ โอกาสที่จะได้เข้านั่งดูการแสดงใน Akb theater (ตั้งอยู่ที่ชั้น 8 ของห้างสรรพสินค้า Don Xihote สาขา อากิฮาบระ ,โตเกียว) นั้น น้อยสุดๆ เพราะหลังๆ เป็นการลงทะเบียนล่วงหน้า และแจ้งผลแบบสุ่ม ใช่ครับต้องจับฉลากเพื่อเข้าดูกันเลยทีเดียว เนื่องความต้องการล้นหลามเกิน 250 ที่นั่ง และยังต้องจ่ายเงินเข้าชมถึง 3000 เยน (สำหรับผู้ชาย) เพื่อเข้าชมอีก หากเทียบกับการที่เรานั่งดูที่บ้านแล้ว (สำหรับคนต่างชาติ คงเป็นการดาวน์โหลดล่ะนะ) จะเห็นว่าอยู่บ้านสบายใจกว่าเยอะ แต่ก็มีคนบอกว่า ถ้าได้ดูสด อารมณ์มันคนละเรื่องกับการดูผ่านจอทีวีแน่นอน  (แหงล่ะที่มันต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าใครก็เข้าใจครับ) เพราะระยะห่างจากที่นั่งคนดูแถวแรกสุดถึงตัวสมาชิกที่ยืนแถวหน้านั้นใกล้มากๆ ไม่ถึงเมตรเลยมั้ง? เรียกว่าใกล้มากๆ อารมณ์การรับชมเรียกว่า คนละมิติกับการดูผ่านจอทีวีแน่นอน
ว่าแต่เพลงที่พวกเธอแสดงทุกครั้ง มันไม่ใช่เพลงที่เราดูทางทีวีเหรอ?
ขอตอบว่า ส่วนมากเพลงที่ใช้แสดงนั้น ประมาณ98%นั้น เป็นเพลงที่ใช้แสดงในโคเอ็นเท่านั้น ถ้าไม่ใช่คนที่ติดตามจริงๆ ไม่มีทางรู้จักเลย โดยการแสดงโคเอ็นนั้นทุกครั้งจะแสดงตาม Set list ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำมาตั้งแต่เริ่มมีAKB กันมา และแน่นอนว่า ไม่ว่าจะ SKE, NMB ,HKT หรือแม้แต่ JKT ก็เป็นระบบเดียวกัน โดย Set List นั้น จะเป็นการเรียงลำดับเพลงจากเพลงที่อากิโมโตะ ยาสึชิ แต่งและกำหนดลำดับขึ้นมา ดังนั้นแล้ว เพลงที่เหล่า กลุ่ม48 ใช้ร่วมกันนั้น ก็มีเพลงมากมายหลายร้อยเพลงเลยทีเดียว!
 
set list คืออะไรนะ?
ทั่วๆไปคือ "ลำดับเพลง" แบบที่เราจัดใน iTunes นั่นแหละ แต่สำหรับ akb แล้ว มันยังหมายถึง ลำดับการแสดงของพวกเธอ โดยเพลงส่วนมากที่ใช้ในโคเอ็นมักจะไม่รวมเพลงซิงเกิ้ลใหม่ๆ เข้าไป เว้นแต่ช่วงอังกอร์ที่จะเปลี่ยนไปตามวันเวลาในช่วงนั้นๆ โดยมากแต่ละ set list จะมีประมาณ 14-16 เพลง + อังกอร์อีกซัก 3-4 เพลง เพื่อให้การแสดงยาว 2 ชั่วโมงนั่นเอง โดย set list ของแต่ละทีมจะมีเพลงต่างกันไป ชนิดที่ว่าแทบจะไม่ซ้ำกันเลย แต่ละเพลงก็จะมีทั้ง Full team, half team,3-4 คน และโซโล่ (คนเดียว) ซึ่งเพลงหลายเพลงในโคเอ็นนั้น บอกตามตรงว่ามีตั้งแต่เพลงที่ธรรมดาๆ ไปจนถึงเพลงดีๆ ปะปนกันไป โดยมาก เพลงในโคเอ็นจะเน้นเนื้อหามากกว่าความติดหู จึงไม่แปลก ถ้าจะดูบางเพลงแล้วไม่เข้าใจว่า ทำไมมันถึงอยู่ใน top 100 ที่แฟนๆลงคะแนนโหวตได้กันนะ เพราะหลายเพลงมันเกี่ยวพันถึงดราม่าในหมู่เมมเบอร์ หรือมีอีเวนท์อะไรบางอย่างที่ทำให้มันมีคุณค่ามากกว่าเพลงซิงเกิ้ลก็เป็นได้
การที่akbมีทีมย่อย 3 ทีม คือ a , k , b นั้นก็หมายถึง แต่ละทีมควรมี set list  เป็นของตัวเอง และเนื่องจากมีมานานหลายปีแล้ว แต่ละทีมจึง set list กันเป็นชุดๆ อย่างทีม Aและ K ที่เคยมีถึง 6 setเลยทีเดียว. แต่ว่าในความเป็นจริง set listล่าสุด ที่ใช้ๆกันก่อนจะประกาศ refomation ครั้งที่ 2 นั้น ใช้กันมาจะ 2 ปีแล้ว ต่อให้โอตะคนนั้นๆ ภักดีแค่ไหน ก็ต้องมีวันเบื่อครับ      ดังนั้นหลังจากประกาศว่าทีมใหม่จะต้อง active ในเดือน พ.ย .2012 แล้ว ทางผู้ใหญ่ จึงมีนโยบายให้แต่ละทีมจัด set list ชั่วคราวของพวกเธอของพวกเธอขึ้นมาใช้เองไปก่อน จนกว่า อ.อากิโมโตะ แกจะแต่งเพลงใหม่เสร็จ ซึ่งมีชื่อสามัญว่า waiting set list ซึ่งกัปตันของแต่ละทีม จะลำดับและคัดเพลงเอง ซึ่งก็น่าจะส่งผลให้คนที่ห่างๆ เธียเตอร์ไปเพราะเบื่อ น่าจะกลับไปอุดหนุนกันอีกครั้ง

ที่นี่คือสนามรบที่แท้จริงของ AKB48 งั้นหรือ?


จะว่าไงดี? AKB48 นั้นปักหลักที่ AKB Theater กันตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และเริ่มแสดงกันทุกค่ำคืน ตั้งแต่มีคนดูแค่ 7 คน จนวันนี้ บางวันก็ไม่มีการแสดง แถมคนที่จะได้ดู ก็ต้องจับฉลากเอาแล้วนั้น สำหรับพวกเธอแล้ว เธียเตอร์น่าจะไม่ต่างอะไรกับฐานที่มั่น ที่โอตะบางคนถือเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์ ต้องไปสักการะกันให้ได้ซักครั้งในชีวิต อะไรทำนองนั้นเลยทีเดียว (เอาเข้าจริง ถ้าได้ไปโตเกียวอีก ผมคงต้องหาทางไปดูให้ได้เหมือนกันล่ะครับ  )

ที่นั่นเอง ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาเป็น New Team ในปีนี้ , คนที่แสดงที่เธียเตอร์นั้น ก็คือ สมาชิกในแต่ละทีม รวมถึงเหล่าเค็งคิวเซย์ โดยสลับกันแสดงในแต่ละวัน โดยแต่ละทีม จะมีสมาชิก 16 คนขึ้นแสดงกันไปทุกวัน  แต่ไปๆมาๆ เมื่อ AKB48 ดังสุดๆ รายการทีวีเยอะสุดๆ , Media Senbatsu หรือ สมาชิกที่ถูกคัดเลือกให้ไปออกสื่อนั้น ก็มักจะติดการถ่ายทำรายการบ้าง , คนไหนดังเป็นการส่วนตัว อย่าง มาเอดะ อัตสึโกะ,โอชิม่า ยูโกะ , ซาชิฮาร่า ริโนะ , วาตานาเบะ มายุ , อิตาโนะ โทโมมิ , โคจิม่า ฮารุนะ , ชิโนดะ มาริโกะ เหล่านี้ก็แทบไม่ได้ขึ้นแสดงเลย เพราะติดถ่ายรายการทีวี , ถ่ายหนัง , ถ่ายละคร , ถ่ายแบบ ,เป็นพิธีกร และ อะไรอีกมากมาย จึงเกิดระบบ Under ขึ้น ซึ่ง Under ในที่นี้ก็คือเหล่าเค็งคิวเซย์ที่ฝีมือเข้าขั้น เข้ามาเสียบแทนสมาชิกที่ไม่อยู่ หรือ หยุดการแสดงเพราะลาพักบ้างอะไรบ้าง  พอแสดงบ่อยๆ เข้า ก็ได้เลื่อนมาเป็นสมาชิกตัวจริงบ้าง ไปๆมาๆ คนที่แสดงเป็นตัวหลักหรือ เซนเตอร์ และ เอส นั้น มักจะลงเอยแบบเดียวกันหมดคือ "ไม่อยู่แสดงที่เธียเตอร์" ไม่ว่าจะทีมไหนๆ ก็เหมือนกันหมด

แล้วใครแสดง?


คนที่แสดงก็คือ เหล่าสมาชิกที่ไม่ได้ไปออกสื่อกับเขา เรียกว่า เป็นกลุ่มที่ทำมาหากินกันที่เธียเตอร์เป็นหลักเลย ซึ่งโดยมากจะเป็นสมาชิกรุ่นใหญ่ที่เอ่ยชื่อไป หลายคนก็ไม่รู้จัก เพราะไม่เคยได้รับโอกาสไปออกทีวี แม้แต่รายการของ AKB เอง อย่าง AKBINGO หรือ Shukan AKB ก็ยังแทบไม่ได้ไปออก โดยมาก มักจะไม่ได้สังกัดอยู่กับ เอเจนซี่ข้างนอก และสังกัดภายในบริษัท AKS ซึ่งมีงานเฉพาะ AKB48 เท่านั้น (ระบบของวงนี้ผมยังไม่ค่อยเข้าใจถ่องแท้ครับ --- แต่เอาเป็นว่า คนที่อยู่กับเอเจนซี่ดังๆ ใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นจะได้รับโอกาสที่ดีกว่าคนที่ไม่ได้สังกัดเอเจนซี่มากๆ /รายได้ที่มาจากเอเจนซี่พวกนี้ก็น่าจะไม่น้อยครับ--- ซึ่งสมาชิกที่ผมเอ่ยถึงไปแล้ว ก็ล้วนแล้วแต่มีงาน "นอกAKB48" แต่เวลาไปออกสื่อก็ยังพ่วงชื่อวงให้คนจำได้อยู่)  สำหรับพวกเธอที่ไม่ได้ไปออกสื่อแล้ว นี่คือ สนามรบที่รักษาไว้ด้วยชีวิต เพราะอย่างน้อยๆ การขึ้นเธียเตอร์พวกเธอเองก็ได้รับค่าจ้าง ได้สร้างฐานของแฟนๆ ในเวลาที่พวกมีเดียไม่อยู่นั่นเอง (พวกนี้ภายหลังจะกลายเป็นพวกที่แอนตี้ มีเดีย เซมบัตสึ ที่น่ารักอย่างเดียว แต่ทักษะการแสดงย่ำแย่ (แบบที่อัจจังในอดีต ก็มีแอนตี้เยอะแยะไปหมด) / เพราะพวกเขาเห็นว่า "เด็กที่เก่งจริงๆ กลับไม่มีใครเห็นคุณค่าเท่าพวกตนนั้น สมควรได้รับโอกาสที่ดีกว่านี้" โอชิเมมของพวกนี้มักเป็นใครที่เราต้องงงว่า "ใครหว่า?" ทั้งสิ้น) และเมื่อขึ้นแสดงทุกวัน แน่นอนว่าถึงจุดหนึ่ง ทักษะการร้อง,การเต้นของพวกเธอก็คงสูงกว่าเหล่ามีเดีย เซมบัตสึ ที่วันๆ เอาแต่ไปออกทีวี อย่างแน่นอน

คน 250 คน VS คนทั้งโลก


คนภายนอกอย่างผม แม้จะทำความรู้จัก AKB48 ผ่านทางอินเตอร์เน็ตแค่ไหน ก็ทำความเข้าใจได้ยากนิดหน่อย ว่าตกลงงานจริงๆของ AKB48 คือที่ไหน? ทีวีที่คนเห็นทั้งญี่ปุ่น (และทั้งโลก เพราะอินเตอร์เน็ต) หรือ เธียเตอร์ที่มีคนเห็นเบื้องต้น 250 คน และอีกหลายพันหลายหมื่นทาง DMM.com สำหรับคนที่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามดูพวกเธอ คงไม่มีความต่าง แต่สำหรับคนที่ดูทางสื่ออย่างเดียวแล้ว การแสดงในเธียเตอร์ดูแล้วคับแคบมืดๆ เพลงที่เล่นก็ไม่เห็น ไม่เคยได้ยินมาก่อน ผมเองพยายามดู LOD (Live on Demand)  ของทุกทีมดูแล้ว พบว่า "บางครั้ง,มันไม่ค่อยบันเทิงเริงใจเท่าไหร่ และให้ดูซ้ำคงยากมากๆ" จะว่าไงดี มันมี gap กว้่างๆ ในแต่ละเพลง ระหว่าง "เพลงดีๆ" กับ "เพลงน่าเบื่อ" อยู่ค่อนข้างกว้าง การที่จะปรับสมองให้รู้สึกว่า "เพลงไหนๆ ก็เพราะ" คงเป็นเรื่องยากสำหรับผมอยู่เหมือนกัน

สรุปนะครับ


การแสดงที่เธียเตอร์ก็คือส่วนหนึ่งของAKB48 (และทุกกลุ่ม 48) ที่เป็น "การแสดงหลัก" ความสามารถทางด้าน "การร้อง / การเต้น / การMC" ของแต่ละสมาชิกจะวัดกันที่นี่ และมีผลใหญ่หลวงกับ "การก้าวหน้าภายในAKB" ส่วนการออกTV เป็น "ความก้าวหน้าในฐานะคนบันเทิงแบบส่วนตัวของเมมเบอร์แต่ละคน" ซึ่งแน่นอนว่า หลายคนก็ไปได้ดิบได้ดีทางTV จนแทบไม่ไปแสดงที่เธียเตอร์  เพราะ รายการTV อยากให้ไปร่วมงานมากๆ (แบบซาชิฮาร่า) และเมื่อรับงานมาแล้ว บางวันก็ไม่มีทางได้ไปร่วมแสดง เพราะเขาจะละเว้นให้เฉพาะคอนเสิร์ตใหญ่เท่านั้น  และบางคนอาจจะไปได้ดิบได้ดีกับสายงานแสดงละคร จนไม่ต้องพึ่งพาชื่อ AKB48 อีกแล้วก็มี

แต่ตราบใดที่ AKB48 ยังคงคอนเซปต์เดิมอยู่ การแสดงที่เธียเตอร์เองก็จะมีต่อไปจนกว่าจะเลิกกันไปข้างหนึ่งล่ะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม