วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

[บทความ] แฟนซับ #1 อะไรคือแฟนซับ


บทความโดย JAGOB ** หากมีข้อมูลไหนไม่ตรง กรุณาคอมเมนต์เพื่อปรับปรุงนะครับ**

ซับไตเติ้ล, แฟนซับไตเติ้ล , แฟนซับ สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนที่ติดตามรายการทีวี, ละครทีวี และเรื่องราวอีกมากมายจากประเทศอื่นต่างก็พึ่งพามัน แต่โชคร้ายที่ซับไตเติ้ลจากรายการญี่ปุ่นไม่ได้ใจดีเหมือนซับไตเติ้ลจากรายการบางประเทศที่มาถึงก็เป็นภาษาอังกฤษแล้ว มันลำบากจะดูแบบ official จริงๆ ดังนั้น แฟนซับจึงเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการโดยอัตโนมัติไปแล้ว คราวนี้จ่ากบผู้ทำแฟนซับ จึงขอมาเขียนถึงในแง่มุมที่แสนจะปกติ และอาจทื่อๆ ไปบ้าง แต่ถ้าจะช่วยอ่านกันสักครั้ง จะขอบคุณมากครับ

ใครจะอ่านก็ไปต่อเลยครับ



(บทความนี้เป็นเรื่องที่เกิดในไทย และสโคปแต่สื่อที่มาจากอเมริกาและญี่ปุ่นเท่านั้น)

แฟนซับ เป็นคำย่อจาก Fan made subtitle จริงๆ เอาง่ายๆ มันคือ Subtitle (ซับไตเติ้ล แปลไทย ; คำบรรยาย, ประโยคที่พูดซึ่งขึ้นใต้จอ) ที่คนดูภาพยนตร์ต่างประเทศคุ้นชินกันดีนั่นแหละครับ เพียงแต่ทำแบบไม่เป็นทางการเท่านั้น

ซับไตเติ้ล   (น่าจะ) ถือกำเนิดมาจากหนังเงียบ หรือภาพยนตร์ในสมัยที่ยังไม่สามารถอัดเสียงลงในฟิล์มได้ ต้องเล่นฟิล์มหนังกับเทปเสียงควบคู่กันไป  (คิดถึงหนังสมัยชาลี แชปปลิน เมื่อ 70-80 ปีก่อนไว้)
"ตอนนี้ฉันมองเห็นแล้ว" (จาก City Lights (1931) – A visibly happy ending)

ต่อมาก็พัฒนาให้ให้มีภาพและเสียงอยู่ในฟิล์มแบบเดียวกันได้ และเมื่อหนังข้ามประเทศจากอเมริกา, ยุโรป ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ด้วยความที่คนต้องการ "เสียงในฟิล์ม" ไม่ต้อง "พากย์เสียงทับ" และให้มีตัวหนังสือที่แปลให้เป็นภาษาท้องถิ่นซึ่งเป็นบทพูดเดียวกับที่ตัวละครพูดผุดขึ้นบนจอในที่สุด

Video 8, VHS and MiniDV.

ต่อมาตลาดวิดีโอเทปเป็นที่นิยมในตลาดของผู้คนทั่วไป (ราวๆ ปี 1970) ก็มีเทคโนโลยี่ใหม่ในเวลานั้นเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้ง เทป VHS (ในปี 1971 และอยู่ยาวมาจนยุค 2000) และ LaserDisc (เริ่มมีในปี 1978 แต่กว่าจะฮิตก็ในอีก 10 ปีให้หลัง) ทำให้หนังที่เคยอยู่แต่ในโรงภาพยนตร์ ลงมาย่อส่วนเหลือฉายขึ้นจอ TVได้ เมื่อย่อส่วนลงมาได้ ก็ส่งข้ามประเทศง่ายขึ้น เมื่อเข้าไปอยู่ในประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ Subtitle ก็เลยอยู่ในความต้องการของคนดูมากขึ้น แต่เพราะในสมัย 30-40 ปีก่อน บ.ทำวิดีโอไทยนิยมจะทำหนังพากย์ไทยมากกว่า   จนมีกลุ่มคนที่นิยม "เสียงในฟิล์ม+คำบรรยายอังกฤษ" ต้องดั้นด้นหาทางดูด้วยการเช่า Laser Disc ซึ่งเป็นแผ่นหนังขนาดใหญ่

เทียบขนาด LASER DISC กับ CD

12นิ้ว มาเปิดคู่กับ "เทปคำบรรยาย" ซึ่งจะทำให้มีซับไตเติ้ลปรากฎขึ้นบนจอได้ (ไม่มั่นใจว่า เทปคำบรรยาย เป็นสิ่งที่มาแต่แรกจากบริษัทเลย หรือยังไงกันแน่ หรือ ในยุคต้น 90 มีการพัฒนาจนสามารถใส่ซับไตเติ้ลเข้าไปได้แล้วหรือไม่ เพราะตัวผู้เขียนไม่เคยดูแผ่น Laser Disc เช่นกัน) จนมีคนหัวใส เอาสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับวงการแผ่นเสียงที่อัดแผ่นเสียง ลงเทปคาสเซ็ต มาขายเป็น "เทปผี"  มาต่อยอดผลิต "วิดีโอเถื่อน" ซึ่งเป็นการทำมาสเตอร์จากการบันทึกภาพ+เสียง+คำบรรยาย จาก Laser Disc ลงในวิดีโอเทปมาขายกันให้เกลื่อนเมือง น่าจะเรียกว่าเป็น "จุดกำเนิดแฟนซับ" ก็พอได้ (นี่เป็นเรื่องในสมัยทศวรรษที่ 80)

ส่วน "แฟนซับ" ใกล้เคียงกับ "แผ่นโมดิฟาย" ที่เกิดขึ้นโดย "คนทางบ้าน" ที่ "Modify (โมดิฟาย)" ซับไตเติ้ลให้เป็นภาษาท้องถิ่นโดยไม่ผ่านการทำงานของค่ายหนังแต่อย่างใด ซึ่งถือกำเนิดในยุคที่คอมพิวเตอร์ใช้ตามบ้านมีราคาที่ถูกลงมาเยอะแล้ว มีซอฟท์แวร์ช่วยทำขึ้นมาแล้ว ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องในทศวรรษที่ 90 แล้ว...

"แผ่น Modify" แพร่หลายในยุคที่อินเตอร์เน็ตยังไม่เร็วมากในบ้านเรา สมัยนั้นผมดูแต่อนิเมชั่นจากญี่ปุ่น สมัยก่อนที่จะมีแฟนซับเผยแพร่ทางเน็ตนั้น ก็จะต้องอุดหนุน "แผ่น Modify" ซึ่งขายแบบเป็นแผ่น VCD กับ S-VCD (เด็กสมัยนี้อาจไม่รู้จักแล้ว) ราคาแสนแพง (สมัยนี้ก็ยังมีขายนะ แต่แปรสภาพเป็นแผ่นBlu-ray ที่โมเองจากซับในเน็ต+ภาพจาก BD-Rip) แต่คนที่อยากดูก็ต้องยอมจ่ายเพราะสมัยนั้น (และสมัยนี้) การหาฉบับลิขสิทธิ์มาดูถือว่าเป็นไปได้ยากมาก และแพงมาก

ในปลายทศวรรษ 90 หนทางที่แฟนๆ อนิเม จะได้ดูแบบของแท้น้อยเหลือเกิน จนมาถึงยุคที่อินเตอร์เน็ตเริ่มเจริญก้าวหน้าในช่วงหลังปี 2000 อินเตอร์เน็ตบ้านเริ่มไวขึ้น หนทางเข้าหาหนังมีซับไตเติ้ลเถื่อน เริ่มไม่ต้องพึ่งพาร้านขายแผ่นโมดิฟาย (นั่นคือ ทุกคนเริ่มดูฟรี ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อแผ่นโมดิฟาย) ทุกคนสามารถหาโหลดเองได้ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ดิบ (ไฟล์ที่ฉายทางTVหรือตัวหนังที่อยู่ใน DVD นั่นแหละคือยังไม่มีซับและพูดภาษาญี่ปุ่น หรือไฟล์ที่มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ) พอมีไฟล์ดิบแล้ว มีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษเป็นต้นทางแล้ว ซอฟท์แวร์ทำซับไตเติ้ลก็มีมากขึ้น คนเริ่มทำเองเป็น ก็เริ่มมีนักแปลสมัครเล่นผุดขึ้นมาเรื่อยๆ และมีคนทำซับไตเติ้ลภาษาไทยด้วยตัวเองมากขึ้น  นั่นแหละ ที่ "วงการแฟนซับ (ในไทย)" เริ่มแพร่หลาย ในช่วงก่อนเข้ายุค 2010

เรื่องประวัติศาสตร์ผมเองก็ไม่แม่นมาก เอาเป็นว่าพอสังเขปก็จะประมาณที่เพิ่งเขียนจบไป

คำว่า "แฟนซับ" นั้น ไม่ได้จำกัดวงแต่ในวงการอนิเม ยังมีวงการละครญี่ปุ่น วงการเพลงญี่ปุ่น วงการแฟนซับฝั่งเกาหลีก็มี วงการหนังซีรี่ส์ฝรั่งก็มี เรียกว่า ถ้ามีสื่อต่างประเทศแล้ว เกือบทุกทางจะต้องมีกลุ่มแฟนซับถือกำเนิดขึ้นมาในที่ลับอยู่เสมอ

แต่นั่นก็เป็นเหมือนดาบสองคมเช่นกัน

แฟนซับในแง่ดีคือ ทำให้ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจกับตัวภาพยนตร์ได้ในทันที , และทำให้เกิดการรับรู้รวดเร็วเพราะแฟนซับไม่ต้องรอให้ใครอนุญาต ทำกันเองแต่แรก ถ้าหากผู้แปลเป็นผู้ที่เข้าใจ contents หรือสิ่งที่แปลดี ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงจุด และที่สำคัญคือดูกันฟรีๆ คนดูแทบไม่ได้จ่ายเงินเลย คนทำเองก็ไม่ค่อยได้เงินหรอก อาศัยใจรักทำๆ กันไป

อะไรนะ? แกทำไปทั้งที่ไม่ได้เงินเรอะ?
แต่ในแง่ไม่ดีคือ เพราะการมีของแฟนซับทำให้หลายๆ contents มีผู้ตัดหน้า บ.ลิขสิทธิ์ ชิงทำมาเผยแพร่ก่อนทำให้บ.ลิขสิทธิ์เสียรายได้ หรือ ทำให้หลายคนที่พอใจจะดูแค่รอบเดียวไม่อุดหนุนสินค้าลิขสิทธิ์อีกทอดหนึ่ง เพราะเคยดูฟรีจนติดนิสัยไปแล้ว พอแผ่นแท้ออกขายก็เลยไม่อุดหนุน ดังนั้นแล้วเมื่อแฟนซับทำให้ บ.ลิขสิทธิ์เสียประโยชน์ ก็มักจะต้องมีบทลงโทษด้วยการลบคลิปหรือปิดเจ้าที่ทำ หรือดำเนินคดีทางกฎหมาย ในที่สุด

บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาจะเชิดชูแฟนซับแต่อย่างใด แม้ผู้เขียนจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแฟนซับ แต่ก็ยอมรับว่าเรากำลังทำสิ่งผิดกฏหมายอยู่เช่นกัน

(จบบท "อะไรคือแฟนซับ")

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม