วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

[ถึงรู้แล้วก็ยังเขียนซ้ำ] 000 ไอดอลญี่ปุ่นคืออะไรหว่า?


---------บทความโดย จ่ากบ

ไอดอล น่าจะเป็นคำที่ญี่ปุ่นบัญญัติขึ้นมาใช้ เพื่อบ่งบอกเหล่าหนุ่มสาวที่นอกจากจะเป็นนักร้องแล้วพวกเขา/เธอ ยังเต้นได้ ไปแสดงละครก็ได้ ไปถ่ายแบบกราเวียร์ชุดว่ายน้ำก็ได้ ไปเป็นนางแบบเดินแฟชั่นโชว์ก็ได้ ไปออกรายการวาไรตี้ก็ได้ ไปโดนแกล้งตามรายการต่างๆก็ได้ ถ้ามันทำให้เป็นที่รู้จัก "ไอดอล" จึงเป็นอะไรที่เป็ดมากในวงการบันเทิงญี่ปุ่น

เรียกว่า "เป็ด" ก็อาจจะดูถูกเกินไปหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ?



เพราะคำว่าเป็ด มีความหมายว่า "ทำได้ทุกอย่างแต่ไม่ได้ดีครบทุกด้าน" ฝรั่งเรียกว่า Jack of all trades คือมีความเป็นเป็ดที่ส่งเสียงร้องได้คล้ายไก่ แต่ขันไม่ดังเท่า, บินได้แต่ก็ไปได้ไม่ไกลแบบนก, ว่ายน้ำได้แต่ก็ไม่เร็วเท่าสัตว์น้ำ

ดังนั้น
ไอดอลร้องเพลงได้ แต่ก็ไม่ดีเท่านักร้องเต็มเวลา
ไอดอลเต้นในเพลงของตัวเองได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องมีSkillดีเท่าแดนเซอร์มืออาชีพ
ไอดอลแสดงละครได้ แต่ก็ใช่ว่าจะเลิศแบบนักแสดงอาชีพ
ไอดอลไปออกรายวาไรตี้ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะคล่องแบบดาราตลกหรือพิธีกรมืออาชีพ
ไอดอลไปเดินแบบได้ แต่ก็ใช่ว่าจะระดับเดียวกับนางแบบแฟชั่น

(อันนี้พูดถึงแบบรวมๆ นะ)


ก็ช่างคล้ายกับความเป็นเป็ดเสียเหลือเกิน

ก็เท่ากับว่าโจทย์ของหัวข้อคือ ตอบว่า ไอดอล=เป็ด งั้นเรอะ?
ไม่ๆ มันยังไม่ใช่ทั้งหมด

ไอดอลมีต้นตออย่างไร อาจจะต้องไปค้นข้อมูลหรือรอผู้เชี่ยวชาญมาแถลงไข
แต่ที่แน่ๆ ไอดอลที่ผมจะพูดถึงที่นี่คงเกี่ยวพันเฉพาะไอดอลสไตล์ญี่ปุุ่นนะครับ ไอดอลแบบเกาหลี หรือไอดอลสไตล์อื่นคงขอกันออกไปก่อน เพราะขืนพูดรวมกันมันสับสนตาย

ไอดอลญี่ปุ่น ที่ผมขอพูดถึงครั้งนี้ ขอเป็นไอดอลที่เห็นกันง่ายๆ ในTVนะครับ
นั่นแหละๆ แบบไอดอลชายล้วนจากค่ายจอนนี่ หรือ ไอดอลหญิงล้วนสไตล์AKB48 นั่นแหละ

(บทความต่อจากนี้เป็นการย่อความจากรายการทีวีญี่ปุ่นที่เล่าความหลังเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้นะครับ -- อย่าถามหาว่ามาจากแหล่งไหน มันเป็นบทสรุปจากความเข้าใจครับ)

ไซโจ้ ฮิเดกิ นักร้อง ผู้ประสบความสำเร็จในยุค70's และยังมีงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันในฐานะเบื้องหลัง

ไอดอลนั้นถ้ามองในนิยามว่า "นักร้องที่ไปแสดงหนังด้วย, ออกวาไรตี้ด้วย" ล่ะก็ ของญี่ปุ่นนี่มีมาตั้งแต่ยุค 70's โน่น เรียกว่าเป็นขวัญใจประชาชนกันเลยทีเดียว สมัยก่อนอาจจะยังไม่ได้เรียกไอดอลหรอก เพราะผมเข้าใจว่า พวกเขาต้องการเป็น "นักร้อง" แต่ "เพื่อสร้างความนิยมเลยต้องออกทีวีเยอะๆ" จะให้รายการวาไรตี้เชิญทุกสัปดาห์มันก็ดูเยอะไป ไปเล่นละครทีวี หรือแสดงภาพยนตร์น่าจะเห็นง่ายกว่า ซึ่งไอดอลยุคคุณแม่ยังสาวพวกนี้ ถึงจุดหนึ่งก็หายหน้าไปจากวงการบันเทิง อันเพราะความเบื่อหน่ายที่ไม่สามารถเป็นนักร้องได้เต็มตัวนัก บางคนก็เริ่มมีอายุก็ต้องเกษียณตัวเองไปจาก "ฐานะ" แบบนั้น คือมีแต่คนถอนตัว และเมื่อดังก็เล่นตัวไม่ยอมมาแสดงละครหรือออกทีวีอีก (ถ้าไม่เกี่ยวกับโปรโมทเพลงใหม่) แต่ก็มีบางคนที่ผ่านยุคสมัยมาได้เรื่อยๆ แบบ ไซโจ้ ฮิเดกิ, โก ฮิโรมิ และเหล่ารุ่นใหญ่ในรายการเพลงขาวแดง

โก ฮิโรมิ แจ้งเกิดยุคเดียวกับไซโจ้ ฮิเดกิ เขามีผลงานต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 1972 จนถึงบัดนี้ออกซิงเกิ้ลมาแล้ว 101 ซิงเกิ้ล ถือเป็นศิลปินรุ่นใหญ่เพียงไม่กี่คนที่ยังแอ็คทีฟและออกTVต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


จนถึงจุดจุดหนึ่ง ค่ายเพลงก็คงจะตกผลึกความคิดได้ซะที ก็เลยเกิด "ไอดอล" ที่เซ็นสัญญามาเพื่อ "ทำได้ทุกอย่างโดยมีฐานะหลักคือ กลุ่มนักร้อง" เมื่อคิดได้ก็มีวงไอดอล และไอดอลเดี่ยวเกิดขึ้นมามากมายในช่วง40ปีที่ผ่านมาของวงการบันเทิงญี่ปุ่น โดยจะแบ่งแยกไปเลยว่า ถ้าเป็น "นักร้อง / วงดนตรี" จะไปออกแต่รายการเพลง (เว้นแต่ว่าคนๆ นั้นจะสมัครใจไปอยู่ในรายการวาไรตี้หรือเล่นหนังเล่นละครเอง) ถ้าเป็น "ไอดอล" ก็ทำอะไรในสโคปที่กว้างกว่าแต่ก็ไม่อาจโฟกัสในเส้นทางใดได้ตลอด วงไอดอลดังๆ ก็เกิดและดับกันตามกาลเวลา บางวงก็มีชื่อเสียงยาวนานอย่าง SMAP หากเป็นวงไอดอลหญิง ก็ มอร์นิ่งมุสุเมะ เป็นต้น

SMAP วงไอดอลชายที่ดังที่สุด (และจะไม่แอคทีฟเมื่อจบปี2016)
มอร์นิ่งมุสุเมะ (ไม่ใช่เมมเบอร์ปัจจุบัน)

แต่ไอดอลที่ยกมาก็คงสถานะ "ตัวตนที่ห่างไกล เห็นใกล้ๆ ได้แต่ในทีวี" จนถึงปี 2005 เท่านั้น เมื่อโปรดิวเซอร์มือทองแห่งวงการบันเทิงญี่ปุ่น นาม อากิโมโตะ ยาสึชิ คิดสร้าง "ไอดอลที่คุณไปพบได้ (ถ้าเสียเงินเข้าชมในเธียเตอร์)" นาม "อากิฮาบาระ48" (ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น AKB48 ที่เราคุ้นเคย) และสร้างปรากฎการณ์ใหม่ สังคมแบบใหม่ให้กับวงการบันเทิงของญี่ปุ่น
AKB48 ในยุคทอง (ปี2011)
จริงๆ แล้วก่อน AKB48 จะถือกำเนิดขึ้น ในญี่ปุุ่นเองก็มี Girl group อยู่อีกหลายวง ซึ่งทั้งหมดยังเป็นไอดอลตามแบบแผนเดิมคือ ร้องเพลง,เต้น,ออกรายการวาไรตี้ , เล่นละคร อยู่ แต่หลังจากAKB48 ปรากฎตัวขึ้นมา ก็ค่อยๆ สร้างฐานแฟน และ ความนิยมแบบใหม่เกิดขึ้นมาคือ "การคัดเอาแต่เด็กปานกลางมาเป็นไอดอล" โดยมีภาพลักษณ์ที่ผิดแปลกจากเดิมไปมากโขขึ้นมา

หน้าตาของAKB48เมมเบอร์ รุ่น 1+2 ในช่วงฟอร์มวงได้ปี-2ปี เกือบทั้งหมดจบการศึกษาจากวงไปแล้ว


โดยมาตรฐานการคัดกรองหรือออดิชั่นของอากิโมโตะ ยาสึชินั้น คัดกรองเด็กจาก "ความรู้สึกว่าน่าจะพอไปไหว" มากกว่า "คนมีของ" ทำให้วงในยุคแรกๆ มีแต่เด็กสาวที่แทบไม่ต่างอะไรกับเด็กนักเรียนหญิงที่พบเจอได้ในโรงเรียน แน่นอนว่าเรื่องหน้าตานั้น "หลายคน" อยู่ในระดับดีกว่าปานกลางเล็กน้อย , สกิลการร้องการเต้นก็เอาแค่ระดับ "พอจะร้องเพลงได้ กับ พอจะมีทักษะการเต้นบ้าง" เรียกว่าต่างจากการออดิชั่นทั่วไป (ที่คล้ายการประกวด)

ดังนั้นสภาพปีแรกๆ น่าจะยังทุลักทุเลมาก แต่กลับกันมันก็สร้าง "ความผูกพันของคนดูกับไอดอล" ขึ้นมาได้เพราะ "ความใช้ไม่ได้" นี่แหละ เพราะหลายคนที่มาดูนั้น มาดูการแสดง (เรียกว่า โคเอ็น) ซ้ำอีกหลายครั้ง (สมัยยังไม่ดัง ที่นั่งคงเหลือทุกรอบ)  และเหล่าAKB48ในวันที่มาดูทีหลังก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาจากเดือนที่แล้วบ้าง เมมเบอร์บางคนที่ตามเพื่อนไม่ทันก็เริ่มมีผู้ชมให้กำลังใจ และเพราะบรรยากาศที่เหมือนมาดูเด็กๆ ที่ไม่ใช่ญาติ แต่ก็ผูกพันให้กำลังใจแบบนี้ ทำให้มีความต่างจาก "มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ" ของไอดอลวงอื่นเสียเหลือเกิน

หลังจากนั้นอากิโมโตะ ยาสึชิก็เริ่มนำ "งานจับมือ" มาใช้ (ไม่มั่นใจว่าAKB48เป็นวงแรกที่นำมาใช้ หรือมันเป็นกิจกรรมที่ไอดอลมีอยู่ตั้งแต่แรกอยู่แล้วกันแน่) ทำให้แฟนคลับได้พบปะกับไอดอลมากขึ้น ได้สนทนาได้เห็นหน้าใกล้ๆ มันถูกใจเหล่าแฟนเพลงมากกว่าไอดอลแบบดั้งเดิมที่กว่าจะได้เจอยากมากๆ (จนป่านนี้ปี 2016 ยังมีอะไรแบบนั้นอยู่เลย) แต่กับAKB48แล้ว ขอให้จองบัตรมือได้ หรือแค่ซื้อCD ก็มีตั๋วงานจับมือ ทุกคนก็ไปพบได้แล้ว (เพราะทุกคนมีบัตรเป็นชื่อตัวเอง เล่นเส้นไม่ได้) กลายเป็นการตอกย้ำคอนเซปต์ "ไอดอลที่คุณไปพบได้" ให้ชัดยิ่งกว่าเดิม

งานจับมือเดี่ยวของAKB48ในปัจจุบัน


AKB48 ทำให้ภาพลักษณ์ของไอดอลลงมาติดดินใกล้ชิดแฟนคลับมากขึ้น แถมภายหลังยังประสบความสำเร็จในแง่ความนิยมและยอดขายแผ่นหลายแสนจนทะลุล้านแผ่น ซึ่งคงทำให้นายทุนตาโตกันเป็นแน่ เพราะงั้นถึงได้มีวงไอดอลน้อยใหญ่ทั่วญี่ปุ่นถือกำเนิดขึ้นมาในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมานี้ เพราะไอดอล "ขายได้"

หลายวงเจริญรอยตามAKB48ด้วยการมีงานพบหน้ากัน แม้จะแอบมีดีเทลที่ต่างออกไปเพื่อไม่ให้รู้สึกว่าลอกAKB48มาก็ตาม แต่ประเด็นเรื่องแฟนคลับได้ใกล้ชิดกับไอดอลมันก็เป็นสิ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยน แต่..หลายวงก็ไม่เล่นด้วย และก็ยังคงยึดขนบเดิมๆ ต่อไป แม้AKBโมเดลจะน่าลอกแค่ไหน หลายๆ ค่ายก็ยังคงไม่ก๊อปปี้แนวทางนี้ให้เสียหน้าง่ายๆ หรอก

ไอดอลญี่ปุ่นในปัจจุบันจึงมีความหลากหลายในแนวทาง
แบบดั้งเดิมก็ยังอยู่ แบบมาพร้อมงานจับมือก็มี แบบที่หลุดโลกระดับที่นึกไม่ถึงก็มี
แต่ไม่ว่าแบบไหนก็คือส่วนนึงของวงการบันเทิงญี่ปุ่นที่มีความยูนีคจากชาติอื่นๆอยู่ดีนั่นเอง...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม